ประวัติความเป็นมาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
“การศึกษาเป็นเครื่องมืออันสำคัญในการพัฒนา ความรู้ ความคิดความประพฤติ ทัศนคติ ค่านิยมและคุณธรรมของบุคคล เพื่อให้เป็นพลเมืองดีมีคุณภาพ และประสิทธิภาพการพัฒนาประเทศก็ย่อมทำได้สะดวกราบรื่นได้ผลที่แน่นอนและรวดเร็ว” พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2520
ตามยุทธศาสตร์การพัฒนา แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560–2564) มีทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เหมาะสม โดยที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม มุ่งเพิ่มศักยภาพในการใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบด้านที่ตั้งของประเทศในเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียแปซิฟิก เสริมสร้างประโยชน์ของไทยในด้านการค้า การลงทุน การเงินและโอกาสด้านการตลาดระหว่างประเทศในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งเป็นการสร้างความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคธุรกิจเอกชนที่มีศักยภาพในการร่วมพัฒนาบุคลากรในทุกภาคส่วนทั้งหมด ภาคเศรษฐกิจ ภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรมแปรรูป รวมทั้งผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) พร้อมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ตลอดจนการยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน ทักษะด้านภาษาและความรอบรู้ด้านภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานตามภารกิจ อันได้แก่ ด้านการผลิตบัณฑิต ด้านการวิจัย ด้านการบริการวิชาการแก่สังคม ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคณะฯ ให้มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล โดยสนองตอบต่อยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ด้านการจัดหลักสูตรเสริมพิเศษที่จำเป็นสำหรับการยังชีพในยุคปัจจุบัน ได้แก่ ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ ภาษาอาเซียน เป็นต้น และ ด้านการเน้นให้บัณฑิตเรียนภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศอื่นๆ สร้างความสามารถ (Competency) ทางด้านภาษาเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อปฏิบัติภารกิจ ได้แก่ การผลิตบัณฑิต การวิจัย และการบริการวิชาการแก่สังคม การทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม และอื่นๆ ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ มาตรฐาน รองรับความต้องการของชุมชน ท้องถิ่น ประเทศและภูมิภาคได้ ทั้งในระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา
เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม และสนองตอบนโยบายได้ครอบคลุมและชัดเจนยิ่งขึ้น อาทิ การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน รวมทั้งเป็นแหล่งบริการข้อมูลความรู้ และบุคลากรที่มีประสบการณ์แก่สังคมท้องถิ่น และตอบสนองชุมชนตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทรา ธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 อย่างแท้จริง
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เกิดจากการแบ่งส่วนราชการ ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ก่อตั้งขึ้นตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2545 ขณะนั้นยังคงเป็นสถาบันราชภัฏศรีสะเกษ มีโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการเป็น 2 คณะ คือ คณะวิทยาการวิชาชีพ และคณะวิทยาการศึกษาทั่วไป ต่อมา เมื่อสถาบันราชภัฏศรีสะเกษ ได้รับการยกฐานะ เป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ” ในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 คณะวิชาทั้งสองจึงถูกปรับเปลี่ยนตามโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการใหม่เป็น
“คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์” โดยแบ่งโครงสร้างหน่วยงานภายในคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ออกเป็น 1 สำนัก 4 ภาควิชา คือ สำนักงานคณบดี ภาควิชาครุศาสตร์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ ภาควิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และภาควิชาบริหารธุรกิจและการจัดการ
ในปี พ.ศ. 2547 มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ จากสถาบันราชภัฏให้เป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาได้เปิดสอนในระดับระดับปริญญาตรี 4 ปี มีวิชาเอก 3 วิชา คือ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน สาขาวิชานิเทศศาสตร์ และสาขาวิชาอังกฤษธุรกิจ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2549 มีการพัฒนาหลักสูตร และเปิดสอนหลักสูตรสาขาวิชาภาษาจีน และสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น ในปี พ.ศ.2557 มีการพัฒนาหลักสูตรและเปิดสอน 2 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาศิลปะและการออกแบบ และสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2558 มีการพัฒนาหลักสูตร เปิดสอน 2 สาขาวิชาขึ้นอีก คือ สาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารและสาขาวิชาประวัติศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2559 ได้ปรับปรุงแขนงวิชาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาชุมชน เป็นสาขาวิชาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และสาขาวิชานิเทศศาสตร์แขนงวิชาวิทยุโทรทัศน์และแขนงวิชาการประชาสัมพันธ์เป็นสาขาวิชานิเทศศาสตร์ และเปิดรับนักศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560
ในปี พ.ศ. 2549 ได้ปรับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายในของคณะ ประกอบด้วย 1 สำนัก
2 ภาควิชา คือ สำนักงานคณบดี ภาควิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
จากการที่แบ่งส่วนราชการในปี พ.ศ. 2549 แยกออกเป็นภาควิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์นั้น สะท้อนให้เห็นว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญมาก เพราะเป็นการพัฒนาการศึกษาให้คน มีความรู้ มีคุณธรรม จริยธรรม และนำท้องถิ่นพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งภูมิยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ศรีสะเกษมีความเหมาะสม เพราะมีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ ประเทศกัมพูชา เหมาะที่จะเป็นประตูสู่การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว จำเป็นต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านภาษาและด้านมิติ ทางสังคมในการอยู่รวมกันเป็นพลเมืองในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีการพัฒนาควบคู่กับมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ในระยะแรกยังมิได้แยกเป็นคณะแต่เป็นภาควิชา คณาจารย์สังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์รับผิดชอบการสอนรายวิชาต่างๆ ที่เป็นส่วนสำคัญของหลักสูตรการศึกษา ในปีการศึกษา 2543 ได้เปิดสอนโปรแกรมวิชาการพัฒนาชุมชน ระดับอนุปริญญา ในปีการศึกษา 2546 เปิดหลักสูตรปริญญาตรี 2 ปี (หลังอนุปริญญา) และต่อมาในปีการศึกษา 2549 ได้เปิดสอนระดับปริญญาตรี 4 ปี
เนื่องจากปัจจุบัน มีความต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับภาษาต่างประเทศมากขึ้นทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคณะฯ ได้เปิดสอนในรายวิชาภาษาญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษและภาษาจีน เป็นวิชาเลือกเสรีของนักศึกษาทุกโปรแกรมวิชา และโปรแกรมวิชาภาษาอังกฤษธุรกิจ มีนักศึกษาสนใจเรียนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ในปีการศึกษา 2549 คณะฯ จึงได้จัดทำศักยภาพของโปรแกรมวิชาภาษาญี่ปุ่นและโปรแกรมวิชาภาษาจีน ซึ่งประกอบด้วย หลักสูตรแผนการเรียนอาจารย์ผู้สอนสื่อการสอนแหล่งวิทยาการแหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพโดยเปิดสอน “สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น” และ“สาขาวิชาภาษาจีน”ในระดับปริญญาตรี 4 ปี ในปีการศึกษา 2551 นอกจากนี้คณะฯ ได้รับความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันขงจื้อ ในการจัดตั้งศูนย์สอบ HSK และ YCK โดยทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 และได้เปิดอบรมหลักสูตรภาษาจีนให้กับคณาจารย์และประชาชนผู้สนใจ รวมทั้งให้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการจัดการเรียนการสอนภาษาจีน และในปี พ.ศ.2564 คณะฯ ได้ปรับปรุงหลักสูตรศิลปศาสตร์สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ โดยเปลี่ยนชื่อสาขาวิชาใหม่รวมทั้งปรับปรุงรายวิชาเป็นสาขาวิชาการจัดการสารสนเทศดิจิทัล เพื่อให้ทันสมัย และเป็นที่ต้องการของบัณฑิต โดยเกิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2565
นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการในการจัดการศึกษาสำหรับแลกเปลี่ยนนักศึกษากับ Guizhou University มณฑลกุ้ยโจ้ว สาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งยังเปิดศูนย์สอบวัดระดับทักษะทางภาษา TOEIC เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2556 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2560 คณะฯ ได้เปิดศูนย์สอบวัดระดับทางภาษา CEFR เพื่อตอบสนองความต้องการของนักศึกษา บุคลากร ตลอดจนบุคคลทั่วไป และเมื่อวันที่ 24-30 พฤษภาคม พ.ศ. 2558
คณะฯ ได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการและงานวิจัยกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศได้แก่ 1) Guizhou Kaili University 2) Guizhou Normal University 3) Guizhou Finance University และ 4) Guizhou University เพื่อแลกเปลี่ยนนักศึกษา คณาจารย์ ด้านวิจัย ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และด้านอื่นๆ ในปี พ.ศ. 2564 ศูนย์ภาษาซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ถูกยกระดับให้เป็น สถาบันภาษา ศิลปวัฒนธรรม โดยสานต่องาน ด้านการพัฒนาภาษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ และในเดือนมีนาคมพ.ศ. 2564 สภามหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ จัดตั้งหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย โดยปรับศูนย์ภาษาในสังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ให้แยกเป็น สถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม โดยมีผู้อำนวยการสถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม เป็นผู้บริหารกำกับดูแล
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ รับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไปให้กับนักศึกษาของคณะต่างๆ รวมทั้งสอนในรายวิชาเอก /วิชาเฉพาะให้กับนักศึกษาของคณะฯ ปัจจุบัน พ.ศ. 2564 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีนักศึกษารวมจำนวนทั้งสิ้น 1,209 คน มีการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี 2 หลักสูตร 9 สาขาวิชา ประกอบด้วย
1. หลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต ได้แก่
1.1 สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน
1.2 สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น
1.3 สาขาวิชาภาษาอังกฤษธุรกิจ
1.4 สาขาวิชาภาษาจีน
1.5 สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์
1.6 สาขาวิชาศิลปะและการออกแบบ
1.7 สาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร
1.8 สาขาวิชาประวัติศาสตร์
2. หลักสูตรนิเทศศาสตร์บัณฑิต
2.1 สาขาวิชานิเทศศาสตร์
ในปัจจุบันสภาพสังคมมีการเปลี่ยนแปลงรวมถึงมีการแข่งขันกันมากขึ้น ทั้งการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ใหม่มหาวิทยาลัยราชภัฏ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560 – พ.ศ.2579)
ซึ่งได้กำหนดพันธกิจ 4 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย 1) การพัฒนาท้องถิ่น 2) การผลิตและพัฒนาครู 3) ยกระดับคุณภาพการศึกษา และ 4) พัฒนาระบบบริหารจัดการ และน้อมนำพระบรมราโชบาย ด้านการศึกษา 4 ประการ ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 สร้างพื้นฐานให้การจัดการศึกษาต้องมุ่งแก่ผู้เรียน คือ 1) มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม 3) มีงานทำ มีอาชีพสุจริต และ 4) เป็นพลเมืองที่ดี ดังนั้น คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ต้องพัฒนาด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคม การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏของท้องถิ่นอย่างแท้จริง รวมทั้งยังให้ก้าวทันโลกและมีศักยภาพด้านบริการการศึกษาในระดับมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และอาเซียน